“ไขมันทรานส์ (Trans-fat)” ที่ตอนนี้กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก อายเชื่อว่าเพื่อน ๆ คงทั้งได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน
หรือได้ดูกันมาแล้วบ่อย ๆ ค่ะ แต่ว่าวันนี้อายจะมาเล่าเรื่องไขมันทรานส์ฉบับเข้าใจง่าย และที่สำคัญ
บทความนี้อายตั้งใจจะมาไขข้องใจที่ว่า ทำไมผู้ป่วยโรคไต ถึงต้องสนใจเจ้าไขมันทรานส์นี้เป็นพิเศษด้วย !
.
แต่ก่อนจะไปดูกันต่อ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์
ช่วยแชร์ไปให้เพื่อน ๆ กันด้วยนะคะ ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ 🙂
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเรื่องกรดไขมันเบื้องต้นกันก่อนนะคะ ปกติแล้ว กรดไขมันจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
กรดไขมันอิ่มตัว (SFA) และ กรดไขมันไม่อิ่มตัว (UFA) ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวนี้ จะแบ่งเป็น 2 ชนิดย่อยอีก
คือ แบบเชิงเดี่ยว (MUFA) และแบบเชิงซ้อน (PUFA)
.
อ้าว แล้วไขมันทรานส์ เกิดขึ้นตอนไหนล่ะ ?
.
ที่มาของไขมันทรานส์มาจาก กรดไขมันไม่อิ่มตัว (UFA) ที่มีอยู่ในน้ำมันพืช เอามาเติมไฮโดรเจนลงไป
จนน้ำมันพืชเหลว ๆ นั้นเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง และได้กลายเป็น กรดไขมันอิ่มตัว (SFA)
.
ซึ่งถ้ากระบวนการนี้เปลี่ยน UFA ในน้ำมันพืช ไปเป็น SFA ได้ทั้งหมด (Full Hydrogenation)
มันก็ไม่มีปัญหาค่ะ (คือแปรสภาพได้สมบูรณ์ 100%) แต่หากเกิดเปลี่ยนไปได้แค่บางส่วน (Partial Hydrogenation)
>>> นี่สิคะ จึงเกิดเป็นไขมันทรานส์ขึ้นมา
สำหรับเมื่อก่อน ไขมันทรานส์ยังไม่ได้ถือว่าเป็นตัวร้ายอะไร เพราะก่อนที่จะเกิดการจำหน่ายมาการีน เนยขาว เนยเทียมขึ้นมา
จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น เนื่องจากเมื่อก่อนผู้คนมีความเชื่อว่า กรดไขมันอิ่มตัวเป็นตัวร้ายสุด ๆ
กินแล้วไม่ดีเอามาก ๆ แต่ก็ไม่อยากจะหยุดกิน (เพราะมันอร่อยมาก) ถึงได้มีการคิดค้นมาการีน เนยขาว เนยเทียม
มาทำขนมทำอาหารแทน แต่พอได้ใช้ไปนานๆ ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมออกมาเรื่อย ๆ เลยว่า
.
ไขมันทรานส์นี้ดันอันตรายกว่า ไขมันอิ่มตัวซะอีก !
.
เพราะว่า ไขมันทรานส์นี้ กินแล้วไปลดไขมันดี HDL และไปเพิ่มไขมันเลว LDL ในขณะที่ไขมันอิ่มตัว
ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพขนาดนั้น (ปริมาณที่กินก็ต้องพอเหมาะด้วยนะคะ)
.
เอาล่ะค่ะ เราพอจะรู้จักกับ ไขมันทรานส์กันมาพอสมควรแล้ว ข้อสงสัยต่อไปก็คือ มันเกี่ยวอะไรกับคนเป็นโรคไตกันแน่ ?
เพื่อน ๆ เชื่อไหมคะว่า ผู้ป่วยโรคไต มักเสียชีวิตด้วยโรคอะไร… (ลองคิดดูสิคะ ติ๊กตอกๆๆ)
.
โรคไต ?
ความดัน ?
หัวใจวาย ?
ติดเชื้อ ?
ขาดสารอาหาร ?
ฟอกไต ?
น้ำท่วมปอด ?
.
.
เฉลย.. โรคหลอดเลือดและหัวใจ นั่นเองค่ะ (เย้ ใครตอบถูก แอบปรบมือให้ตัวเองกันด้วยนะคะ)
ใช่แล้วค่ะ เพราะเจ้าโรคหลอดเลือดและหัวใจนี่แหละ ร้ายกาจที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยอายุสั้นลง และที่อายจะบอกต่อไปก็คือ
การดูแลตัวเอง ที่จะไม่ให้เป็นโรคนี้ก็คือ การเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง นั่นเอง
.
ซึ่งจากสถิติของสมาคมโรคหัวใจและสมาคมโรคไตในอเมริกา ได้ชี้แจงออกมาด้วยนะคะ ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ
เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิตมากที่สุด รวมถึงในประเทศไทยเอง
โรคนี้ก็อยู่ในสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิตด้วยเช่นกัน
ว่าแต่ ทำไมกันล่ะ..ไปดูกันต่อเลยค่ะ
4 สาเหตุ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไต เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนอื่น ๆ
- เป็นโรคไต เกิดโลหิตจางได้ง่าย โดยเฉพาะใครที่มีค่า Hemoglobin ต่ำกว่า 9 ก็จะเสี่ยงสูง เพราะเมื่อโลหิตจาบ จะไปทำให้กล้ามเนื้อหัวใจโต และเป็นนานเข้าก็ทำให้เสียชีวิตได้
- เป็นโรคไต มีภาวะไข่ขาวรั่ว (ชนิด microalbumin) ในปัสสาวะ
- เป็นโรคไต สภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ค่าแคลเซียม ค่าฟอสฟอรัส และค่า PTH ที่ไม่ปกติ ทำให้เส้นเลือดตีบตัน อัดตันและกล้ามเนื้อหัวใจโต จึงมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้
- เป็นโรคไต ทำให้ไขมันสูงกว่าปกติอยู่แล้ว ดังนั้นจะกินอาหารประเภทไขมันทั้งที จึงควรเป็นไขมันดี และมีปริมาณพอเหมาะ เนื่องจากไตเสื่อม เลยทำให้ร่างกายสร้างไขมันออกมามากว่าคนปกติทั่วไป ถึงต่อให้ไม่กินไขมันเข้าไปเลย ร่างกายก็สร้างขึ้นมาอยู่ดี ผู้ป่วยโรคไตจึงมักได้กินยาลดไขมันอยู่ตลอด ที่สำคัญ การเลือกอาหารจึงควรเลือกที่ไขมันน้อยเข้าไว้ และต้องเลี่ยงไขมันทรานส์ด้วยค่ะ
เห็นไหมคะ ว่าจริง ๆ แล้วกลุ่มคนที่เสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่าย ก็คือ ผู้ป่วยโรคไตนี่ล่ะค่ะ
แล้วในฐานะที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงแบบนี้ ถ้าเราจะไม่เลือกอาหารดี ๆ หรือจะไม่ทำความเข้าใจถึงอันตรายในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น
กับตัวเรา หรือคนที่เรารัก (หากใครเป็นญาติ) มันก็ไม่ได้จริงไหมล่ะคะ ^^
.
เพื่อน ๆ ที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ อายเชื่อว่า คงจะเข้าใจเรื่องไขัมนทรานส์ และโรคไตมากขึ้นแล้วนะคะ ว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง
รวมถึงทำไมเราต้องสนใจด้วย สุดท้ายนี้ก็ขอฝากวิธีเลือกอาหารง่าย ๆ ปลอดภัยจากไขมันทรานส์ ไว้ว่า
.
“เราควรฝึกพลิกดูฉลากโภชนาการทุกครั้ง ก่อนตัดสินใจซื้อขนมหรืออาหารใด ๆ ให้เป็นนิสัยเอาไว้”
ขอให้ทุกคนมีความสุขและแข็งแรง ๆ กันถ้วนหน้าค่าา
**ค่าไขมันอิ่มตัวที่เหมาะสม คือไม่เกิน 5 กรัม/หน่วยบริโภค และไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค**
.
.
อย่าลืมแชร์บทความนี้ให้เพื่อน ๆ ด้วยนะค๊าา ขอบคุณมากค่ะ ^^
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.honestdocs.co/risks-for-cardiovascular-disease-chronic-kidney-patients
https://www.dropbox.com/s/brzlqgf76g9g6hz/F17.pdf?dl=0
https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/1788-trans-fat
https://www.facebook.com/kmitlnews/posts/1910408765687066
https://www.facebook.com/sheisadietitian/posts/2015032551864855