โปรตีน เรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตต้องรู้

อายได้ยินคำถามนึงบ่อยมาก ๆ เลยค่ะ

ทั้งจากคนที่เจอกันตามศูนย์ฟอกไต และแฟนเพจที่ inbox เข้ามา

“อยากรู้ว่า ตกลงวันนึงต้องกิน ไข่ขาวกี่ฟองกันแน่ ? “

 

ซึ่งจริง ๆ อายก็อยากจะตอบให้ค่ะว่า

มันไม่มีเลขที่ตายตัว เพราะ มันขึ้นกับอายุ เพศ โรคแทรกซ้อน

และน้ำหนักส่วนสูง ของแต่ละคนด้วยนะคะ

 

ถ้าคุณเป็นคนชอบไข่ขาวมาก กินได้วันละหลาย ๆ ฟอง ไม่มีปัญหา มันก็ดี จริงไหมคะ

แต่ความจริง คือ คนที่เบื่อมีมากกว่าเยอะ !!

 

แต่จะจัดเมนูยังไง ให้กินไข่ขาวได้แบบไม่เบื่อ

เพราะแอลบูมินมันหาไม่ได้จากวัตถุดิบชนิดอื่นซะด้วยสิ

 

แถมถ้าไม่ยอมกิน อาจจะทำให้เราบวมน้ำ เสี่ยงติดเชื้อง่าย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ผมร่วง เล็บไม่แข็งแรง อีกต่างหาก เพราะอาการพวกนี้เกิดจาก

การกินแอลบูมินน้อยเกินไป นั่นเองค่ะ

 

แต่ก่อนจะไปดูกันต่อ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์กับคุณ 

หรือกับเพื่อน ๆ ของคุณ ช่วยแชร์กันไปได้เลยนะคะ อายจะขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ 🙂

 

pro2

 

เทคนิคแรกที่จะทำให้เรากินไข่ขาวต่อไปได้ คือ การดัดแปลงเมนู

ซึ่งคนดูแลหรือตัวผู้ป่วยก็ต้องขยัน ในการปรุงอาหารกันสักหน่อย

แต่รับรองว่า อาหารจะไม่น่าเบื่อเลย

 

ส่วนเทคนิคที่ 2 ที่อายจะมานำเสนอวันนี้ ก็คือ การจัดเมนูล่วงหน้า

ดูตัวอย่างเลยแล้วกันค่ะ จะได้เข้าใจมากขึ้น

 

**ปกติผู้ป่วยโรคไต ควรได้รับโปรตีนคุณภาพดี ที่เป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไข่ขาว

อย่างน้อย ครึ่งนึง ของโปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน**

 

แล้ววันนึงเราต้องกินโปรตีนเท่าไหร่กันล่ะ มีวิธีคำนวณง่าย ๆ ค่ะ..

ก่อนอื่น เริ่มจาก เราต้องรู้ น้ำหนักตัวที่เป็นน้ำหนักจริง **น้ำหนักตอนไม่บวม ซึ่งถ้าเป็นคนอ้วน

ต้องใช้น้ำหนักที่เป็น IBW (ideal body weight) ที่เป็นน้ำหนักในอุดมคติ หรือน้ำหนักที่เหมาะสมกับเราค่ะ

 

ที่ต้องใช้ IBW เพราะว่า ถ้าเราใช้น้ำหนักจริงตอนนี้ สมมติบางคนที่น้ำหนักถึง 100 Kg. พอเอามาคำนวณโปรตีน

มันจะเยอะ มาก ๆ เลยค่ะ >> อยากรู้ IBW ของตัวเอง คลิ๊กที่นี่ ค่ะ

 

 

โปรตีนที่เหมาะกับโรคไตระยะ 3-4

0.6-0.8 x น้ำหนักตัว (เป็นกิโลกรัม)

เช่น นาย A สูง 160 ซม. น้ำหนัก 60 กิโลกรัม

แปลว่า ทานโปรตีนได้ 36-48 กรัม ต่อวัน

 

โปรตีนที่เหมาะกับคนโรคไตระยะ 5 หรือฟอกไตผ่านเครื่อง

1.1-1.4 x น้ำหนักตัว (เป็นกิโลกรัม)

เช่น นาย A สูง 160 ซม. น้ำหนัก 60 กิโลกรัม

แปลว่า ทานโปรตีนได้ 66-84 กรัม ต่อวัน

 

โปรตีนที่เหมาะกับคนโรคไตระยะ 5 หรือล้างไตทางหน้าท้อง

1.2-1.5 x น้ำหนักตัว (เป็นกิโลกรัม)

เช่น นาย A สูง 160 ซม. น้ำหนัก 60 กิโลกรัม

แปลว่า ทานโปรตีนได้ 72-90 กรัม ต่อวัน

 

pro3

 

แล้วจะกินยังไงให้ได้โปรตีนอย่างที่ว่านี้

ก็อยู่ที่ การจัดเมนูอาหาร กันแล้วค่ะ

 

ตัวอย่าง การเตรียมวัตถุดิบก่อนปรุงอาหาร

ให้ได้โปรตีน 70 กรัม ใน 1 วัน (3 มื้อ)

 

อกไก่ 100 กรัม (ให้โปรตีน 23 กรัม)

ปลาแซลมอน 100 กรัม (ให้โปรตีน 21 กรัม)

กุ้ง 35 กรัม (ให้โปรตีน 7 กรัม)

ไข่ขาว 4 ฟอง (ให้โปรตีน 14 กรัม)

ผักต่าง ๆ ให้โปรตีนน้อยมาก ๆ

เสริมของว่างนิดหน่อย ให้ได้โปรตีนอีก 5 กรัม

 

 

พอได้วัตถุดิบ เราก็เอามาครีเอทเมนูได้เลย

ว่าจะเอามาทำเมนูอะไรดี เช่น

อกไก่ผัดขิง ไข่ดาว ปลานึ่งมะนาว ผักกาดผัดกุ้ง ข้าวผัดอกไก่ เป็นต้น

 

เท่านี้ เราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะกินโปรตีนไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วค่ะ ^^

 

pro4

 

**แนะนำวัตถุดิบ**

อกไก่ : กิน 100 กรัม ได้โปรตีน 23 กรัม

เนื้อหมู : กิน 100 กรัม ได้โปรตีน 23 กรัม

ไข่ไก่ : กิน 1 ฟอง ได้โปรตีน 7 กรัม

ไข่ขาว : กิน 2 ฟอง ได้โปรตีน ประมาณ 7 กรัม

เนื้อกุ้ง : กิน 3-5 ตัว ได้โปรตีน 7 กรัม

 

เป็นยังไงกันบ้างคะ หวังว่าเพื่อน ๆ จะเข้าใจเรื่องการกินโปรตีนมากขึ้นกันนะคะ

ทั้งนี้ ถ้าใครมีโรคแทรกซ้อน หรือเป็นเคสพิเศษ อาจจะต้องมีเงื่อนไขนอกเหนือจากการคำนวณแบบนี้

ยังไงฟังคำแนะนำของคุณหมอร่วมด้วยนะคะ ^^

 

อ่านจบแล้ว อย่าลืมแชร์บทความนี้ ให้คนที่คุณรักกันด้วยนะค๊าา ขอบคุณมากค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง :

คู่มือ กินอย่างไร เมื่อไตเสื่อม

โภชนบําบัดในโรคไต รพ.รามาธิบดี

www.bumrungrad.com

 

1 thought on “โปรตีน เรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตต้องรู้

  1. สวัสดีครับ ผมไปร้านยาเพื่อหาอาหารเสริมมาชงดื่มแทนการกินโปรตีน เพื่อจะจำกัดปริมาณ ไม่ทราบว่า mega immuplex 11 กรัม ต่อน้ำหนึ่งแก้ว 250 ml. มันมีค่าเท่ากับโปรตีนกี่กรัมครับ?

Leave a Comment